วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ภาษาไทย

1.การสร้างคำโดยใช้คำมูล คำประสม คำสมาส คำสนธิ คำซ้ำ และคำซ้อน

           การสร้างคำในภาษาไทย
           คำที่ใช้ในภาษาไทยดั้งเดิม ส่วนมากจะเป็นคำพยางค์เดียว เช่น พี่น้อง เดือนดาว จอบไถ หมูหมา กิน นอน ดี ชั่ว สอง สาม เป็นต้น เมื่อโลกวิวัฒนาการ มีสิ่งแปลกใหม่เพิ่มขึ้น ภาษาไทยก็จะต้องพัฒนาทั้งรูปคำและการเพิ่มจำนวนคำ เพื่อให้มีคำใช้ในการสื่อสารให้เพียงพอ กับการเปลี่ยนแปลงของวัตถุสิ่งของและเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยการสร้างคำ ยืมคำและเปลี่ยนแปลงรูปคำซึ่งจะมีรายละเอียดดังนี้

           แบบสร้างคำ
           แบบสร้างคำ คือ วิธีการนำอักษรมาประสมเป็นคำเกิดความหมายและเสียงของแต่ละ พยางค์ ใน ๑ คำ จะต้องมีส่วนประกอบ ๓ ส่วน เป็นอย่างน้อย คือ สระ พยัญชนะและวรรณยุกต์ อย่างมากไม่เกิน ๕ ส่วน คือ สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ ตัวสะกด ตัวการันต์

           รูปแบบของคำ
           คำไทยที่ใช้อยู่ปัจจุบันมีทั้งคำที่เป็นคำไทยดั้งเดิม คำที่มาจากภาษาต่างประเทศ คำศัพท์เฉพาะทางวิชาการคำที่ใช้เฉพาะในภาษาพูด คำชนิดต่าง ๆ เหล่านี้มีชื่อเรียกตามลักษณะ และแบบสร้างของคำ เช่น คำมูล คำประสม คำสมาส คำสนธิ คำพ้องรูป คำพ้องเสียง คำเหล่านี้มีลักษณะพิเศษเฉพาะ ผู้เรียนจะเข้าใจลักษณะแตกต่างของคำเหล่านี้ได้จากแบบสร้างของคำ

           ความหมายและแบบสร้างของคำชนิดต่าง ๆ     
           1. คำมูล

           คำมูล คือ คำ ๆ เดียวที่มิได้ประสมกับคำอื่น อาจมี ๑ พยางค์ หรือหลายพยางค์ก็ได้ แต่่เมื่อแยกพยางค์แล้วแต่ละพยางค์ไม่มี
ความหมาย คำภาษาไทยที่ใช้มาแต่เดิมส่วนใหญ่ เป็นคำมูลที่มีพยางค์เดียวโดด ๆ เช่น พ่อ แม่ กิน เดิน
            ตัวอย่างแบบสร้างของคำมูล 
         คนมี ๑ พยางค์ คือ คน
         สิงโตมี ๒ พยางค์ คือ สิง + โต
         นาฬิกามี ๓ พยางค์ คือ นา + ฬิ + กา
         ทะมัดทะแมงมี ๔ พยางค์ คือ ทะ + มัด + ทะ + แมง
         กระเหี้ยนกระหือรือมี ๕ พยางค์ คือ กระ + เหี้ยน + กระ + หือ + รือ
          จากตัวอย่างแบบสร้างของคำมูล จะเห็นว่าเมื่อแยกพยางค์จากคำแล้ว แต่ละพยางค์ไม่มีความหมายในตัวหรืออาจมีความหมายไม่ครบทุกพยางค์ คำเหล่านี้จะมีความหมายก็ต่อเมื่อนำทุกพยางค์มารวมเป็นคำ ลักษณะเช่นนี้ ถือว่าเป็นคำเดียว
โดด ๆ 


           2. คำประสม
           คำประสม คือ คำที่สร้างขึ้นใหม่โดยนำคำมูลตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปมาประสมกัน เกิดเป็นคำใหม่ขึ้นอีกคำหนึ่ง
               ๑. เกิดความหมายใหม่
               ๒. ความหมายคงเดิม
               ๓. ให้ความหมายกระชับขึ้น
           ตัวอย่างแบบสร้างคำประสม 
         แม่ยายเกิดจากคำมูล ๒ คำ คือ แม่ + ยาย
         ลูกน้ำเกิดจากคำมูล ๒ คำ คือ ลูก + น้ำ
         ภาพยนตร์จีนเกิดจากคำมูล ๒ คำ คือ ภาพยนตร์ + จีน
          จากตัวอย่างแบบสร้างคำประสม จะเห็นว่าเมื่อแยกคำประสมออกจากกัน จะได้คำมูลซึ่งแต่ละคำมีความหมายในตัวเอง
          ชนิดของคำประสม
          การนำคำมูลมาประสมกัน เพื่อให้เกิดคำใหม่ขึ้นเรียกว่า “คำประสม” นั้น มีวิธีสร้างคำตามแบบสร้าง อยู่ ๕ วิธีด้วยกัน คือ
         ๑.คำประสมที่เกิดจากคำมูลที่มีรูป เสียง และความหมายต่างกัน เมื่อประสมกันเกิดเป็นความหมายใหม่ ไม่ตรงกับความหมายเดิม เช่น 
           แม่หมายถึงหญิงที่ให้กำเนิดลูก
           ยายหมายถึงแม่ของแม่
           แม่ + ยาย  ได้คำใหม่ คือ แม่ยายหมายถึงแม่ของเมีย
คำประสมชนิดนี้มีมากมาย เช่น แม่ครัว ลูกเรือ พ่อตา มือลิง ลูกน้ำ ลูกน้อง ปากกา
         ๒.คำประสมที่เกิดจากคำมูลที่มีรูป เสียง และความหมายต่างกัน เมื่อประสมกันแล้วเกิด ความหมายใหม่แต่ยังคงรักษาความหมายของคำเดิมแต่ละคำได้ เช่น 
           หมอหมายถึงผู้รู้ ผู้ชำนาญ ผู้รักษาโรค
           ดูหมายถึงใช้สายตาเพื่อให้เห็น
    หมอ + ดู ได้คำใหม่ คือ หมอดูหมายถึงผู้ทำนายโชคชะตาราศี คำประสมชนิดนี้
เช่น หมอความ นักเรียน ชาวนา ของกิน ช่างแท่น ร้อนใจ เป็นต้น
         ๓.คำประสมที่เกิดจากคำมูลที่มีรูป เสียง ความหมายเหมือนกัน เมื่อประสมแล้วเกิดความหมายต่างจากความหมายเดิมเล็กน้อย อาจมีความหมายทางเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ การเขียนคำประสมแบบนี้จะใช้ ไม้ยมก (ๆ) เติมข้างหลัง เช่น
           เร็วหมายถึงรีบ ด่วน
           เร็ว ๆหมายถึงรีบ ด่วนยิ่งขึ้น เป็นความหมายที่เพิ่มขึ้น
           ดำหมายถึงสีดำ
           ดำ ๆหมายถึงดำไม่สนิท เป็นความหมายในทางลดลง คำประสมชนิดนี้ เช่น
ช้า ๆ  ซ้ำ ๆ ดี ๆ น้อย ๆ ไป ๆ มา ๆ เป็นต้น
         ๔.คำประสมที่เกิดจากคำมูลที่มีรูปและเสียงต่างกัน แต่มีความหมายเหมือนกัน เมื่อนำมาประสมกันแล้วความหมายไม่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น 
           ยิ้มหมายถึงแสดงให้ปรากฏว่าชอบใจ
           แย้มหมายถึงคลี่ เผยอปากแสดงความพอใจ
         ยิ้ม + แย้ม ได้คำใหม่ คือ ยิ้มแย้ม หมายถึง ยิ้มอย่างชื่นบาน คำประสมชนิดนี้มีมากมาย เช่น โกรธเคือง รวดเร็ว แจ่มใส เสื่อสาด บ้านเรือน วัดวาอาราม ถนนหนทาง เป็นต้น
         ๕.คำประสมที่เกิดจากคำมูลที่มีรูป เสียง และความหมายต่างกัน เมื่อนำมาประสมจะตัดพยางค์หรือย่นพยางค์ให้สั้นเข้า เช่น 
คำว่า ชันษา มาจากคำว่า ชนม+พรรษา 
           ชนมหมายถึงการเกิด
           พรรษาหมายถึงปี
           ชนม + พรรษา ได้คำใหม่ คือ ชันษาหมายถึงอายุ คำประสมประเภทนี้   ได้แก่
           เดียงสามาจากเดียง+ภาษา
           สถาผลมาจากสถาพร+ผล
           เปรมปรีดิ์มาจากเปรม+ปรีดา


           3. คำสมาส
           คำสมาส เป็นวิธีสร้างคำในภาษาบาลีและสันสกฤต โดยนำคำตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปมาประกอบกันคล้ายคำประสม แต่คำที่นำมาประกอบแบบคำสมาสนั้น นำมาประกอบหน้าศัพท์ การแปลคำสมาสจึงแปลจากข้างหลังมาข้างหน้า เช่น
          บรม (ยิ่งใหญ่) + ครู=บรมครู (ครูผู้ยิ่งใหญ่)
          สุนทร (ไพเราะ) + พจน์ (คำพูด)=สุนทรพจน์ (คำพูดที่ไพเราะ)
            การนำคำมาสมาสกัน อาจเป็นคำบาลีสมาสกับบาลี สันสกฤตสมาสกับสันสกฤต หรือบาลี สมาสกับสันสกฤตก็ได้ในบางครั้ง คำประสมที่เกิดจากคำไทยประสมกับคำบาลีหรือคำสันสกฤตบางคำ มีลักษณะคล้ายคำสมาสเพราะแปลจากข้างหลังมาข้างหน้า เช่น ราชวัง แปลว่า วังของพระราชา อาจจัดว่าเป็นคำสมาสได้ ส่วนคำประสมที่มีความหมายจากข้างหน้าไปข้างหลังและมิได้ทำให้ ความหมาย ผิดแผกแม้คำนั้นประสมกับคำบาลีหรือสันสกฤตก็ถือว่าเป็นคำประสม เช่น มูลค่า ทรัพย์สิน เป็นต้น
           การเรียงคำตามแบบสร้างของคำสมาส
         ๑.ถ้าเป็นคำที่มาจากบาลีและสันสกฤต ให้เรียงบทขยายไว้ข้างหน้า เช่น
            อุทกภัย หมายถึง ภัยจากน้ำ
            อายุขัย หมายถึง สิ้นอายุ
         ๒.ถ้าพยางค์ท้ายของคำหน้าประวิสรรชนีย์ ให้ตัดวิสรรชนีย์ออก เช่น
            ธุระ สมาสกับ กิจ เป็น ธุรกิจ
            พละ สมาสกับ ศึกษา เป็น พลศึกษา
         ๓.ถ้าพยางค์ท้ายของคำหน้ามีตัวการันต์ให้ตัดการัตน์ออกเมื่อเข้าสมาส เช่น
            ทัศน์ สมาสกับ ศึกษา เป็น ทัศนศึกษา
            แพทย์ สมาสกับ สมาคม เป็น แพทยสมาคม
         ๔.ถ้าคำซ้ำความ โดยคำหนึ่งไขความอีกคำหนึ่ง ไม่มีวิธีเรียงคำที่แน่นอน เช่น
             นร (คน) สมาสกับ ชน (คน) เป็น นรชน (คน)
             วิถี (ทาง) สมาสกับ ทาง (ทาง) เป็น วิถีทาง (ทาง)
             คช (ช้าง) สมาสกับ สาร (ช้าง) เป็น คชสาร (ช้าง)
           การอ่านคำสมาส
           การอ่านคำสมาสมีหลักอยู่ว่า ถ้าพยางค์ท้ายของคำลงท้ายด้วย สระอะ, อิ, อุ เวลาเข้าสมาสให้อ่านออกเสียง อะ อิ อุ นั้นเพียงครึ่งเสียง เช่น 
         เกษตรสมาสกับศาสตร์เป็นเกษตรศาสตร์อ่านว่ากะ-เสด-สาด
         อุทกสมาสกับภัยเป็นอุทกภัยอ่านว่าอุ-ทก-กะ-ไพ
         ประวัติสมาสกับศาสตร์เป็นประวัติศาสตร์อ่านว่าประ-หวัด-ติ-สาด
         ภูมิสมาสกับภาคเป็นภูมิภาคอ่านว่าพู-มิ-พาก
         เมรุสมาสกับมาศเป็นเมรุมาศอ่านว่าเม-รุ-มาด
         เชตุสมาสกับพนเป็นเชตุพนอ่านว่าเช-ตุ-พน
        *ข้อสังเกต
         ๑.มีคำไทยบางคำ ที่คำแรกมาจากภาษาบาลีสันสกฤต ส่วนคำหลังเป็นคำไทย คำเหล่านี้ ได้แปลความหมายตามกฎเกณฑ์ของคำสมาส แต่อ่านเหมือนกับว่าเป็นคำสมาส ทั้งนี้ เป็นการอ่านตามความนิยม เช่น 
           เทพเจ้าอ่านว่าเทพ-พะ-เจ้า
           พลเรือนอ่านว่าพล-ละ-เรือน
           กรมวังอ่านว่ากรม-มะ-วัง
คำเหล่านี้ ผู้เรียนจะสามารถศึกษาพวกกฎเกณฑ์ได้ต่อเมื่อเรียนชั้นสูงขึ้น
         ๒.โดยปกติการอ่านคำไทยที่มีมากกว่า ๑ พยางค์ มักอ่านตรงตัว เช่น 
           บากบั่นอ่านว่าบาก-บั่น
           ลุกลนอ่านว่าลุก-ลน
แต่มีคำไทยบางคำที่เราอ่านออกเสียงตัวสะกดด้วย ทั้งที่เป็นคำไทยมิใช่คำสมาสซึ่งผู้เรียนจะต้องสังเกต เช่น 
           ตุ๊กตาอ่านว่าตุ๊ก-กะ-ตา
           จักจั่นอ่านว่าจัก-กะ-จั่น
           จั๊กจี้อ่านว่าจั๊ก-กะ-จี้
           ชักเย่ออ่านว่าชัก-กะ-เย่อ
           สัปหงกอ่านว่าสับ-ปะ-หงก


           4. คำสนธิ
           การสนธิ คือ การเชื่อมเสียงให้กลมกลืนกันตามหลักไวยกรณ์บาลีสันสกฤต เป็นการเชื่อม อักษรให้ต่อเนื่องกันเพื่อตัดอักษรให้น้อยลง ทำให้คำพูดสละสลวย นำไปใช้ประโยชน์ในการแต่งคำประพันธ์
           คำสนธิ เกิดจากการเชื่อมคำในภาษาบาลีและสันสกฤตเท่านั้น ถ้าคำที่นำมาเชื่อมกัน ไม่ใช่ภาษาบาลีสันสกฤต ไม่ถือว่าเป็นสนธิ เช่น กระยาหาร มาจากคำ กระยา + อาหาร ไม่ใช่สนธิ เพราะ กระยาเป็นคำไทยและถึงแม้ว่าคำที่นำมารวมกันแต่ไม่ได้เชื่อมกัน เป็นเพียงประสมคำเท่านั้น ก็ไม่ถือว่าสนธิ เช่น 
         ทิชาชาติมาจากทีชา + ชาติ
         ทัศนาจรมาจากทัศนา + จร
         วิทยาศาสตร์มาจากวิทยา + ศาสตร์
แบบสร้างของคำสนธิที่ใช้ในภาษาบาลีและสันสกฤต มีอยู่ ๓ ประเภท คือ
             ๑. สระสนธิ
             ๒. พยัญชนะสนธิ
             ๓. นิคหิตสนธิ
     สำหรับการสนธิในภาษาไทย ส่วนมากจะใช้แบบสร้างของสระสนธิ
           แบบสร้างของคำสนธิที่ใช้ในภาษาไทย
           ๑.สระสนธิ
           การสนธิสระทำได้ ๓ วิธี คือ
              ๑.๑ ตัดสระพยางค์ท้าย แล้วใช้สระพยางค์หน้าของคำหลังแทน เช่น 
                   มหาสนธิกับอรรณพเป็นมหรรณพ
                   นรสนธิกับอินทร์เป็นนรินทร์
                   ปรมะสนธิกับอินทร์เป็นปรมินทร์
                   รัตนะสนธิกับอาภรณ์เป็นรัตนาภรณ์
                   วชิรสนธิกับอาวุธเป็นวชิราวุธ
                   ฤทธิสนธิกับอานุภาพเป็นฤทธานุภาพ
                   มกรสนธิกับอาคมเป็นมกราคม
              ๑.๒ ตัดสระพยางค์ท้ายของคำหน้า แล้วใช้สระพยางค์หน้าของคำหลังแต่เปลี่ยนรูป อะ เป็น อา อิ เป็น เอ อุ เป็น อู หรือ โอ ตัวอย่างเช่น
              เปลี่ยนรูป อะ เป็นอา 
                   เทศสนธิกับอภิบาลเป็นเทศาภิบาล
                   ราชสนธิกับอธิราชเป็นราชาธิราช
                   ประชาสนธิกับอธิปไตยเป็นประชาธิปไตย
                   จุฬาสนธิกับอลงกรณ์เป็นจุฬาลงกรณ์
              เปลี่ยนรูป อิ เป็น เอ 
                   นรสนธิกับอิศวรเป็นนเรศวร
                   ปรมสนธิกับอินทร์เป็นปรเมนทร์
                   คชสนธิกับอินทร์เป็นคเชนทร์
              เปลี่ยนรูป อุ เป็น อู หรือ โอ
                   ราชสนธิกับอุปถัมภ์เป็นราชูปถัมภ์
                   สาธารณะสนธิกับอุปโภคเป็นสาธารณูปโภค
                   วิเทศสนธิกับอุบายเป็นวิเทโศบาย
                   สุขสนธิกับอุทัยเป็นสุโขทัย
                   นยสนธิกับอุบายเป็นนโยบาย
              ๑.๓ เปลี่ยนสระพยางค์ท้ายของคำหน้า อิ อี เป็น ย อุ อู เป็น ว แล้วใช้สระ พยางค์หน้าของคำหลังแทน เช่น
              เปลี่ยน อิ อี เป็น ย 
                   มติสนธิกับอธิบายเป็นมัตยาธิบาย
                   รังสีสนธิกับโอภาสเป็นรังสโยภาส, รังสิโยภาส
                   สามัคคีสนธิกับอาจารย์เป็นสามัคยาจารย์
              เปลี่ยน อุ อู เป็น ว 
                   สินธุสนธิกับอานนท์เป็นสินธวานนท์
                   จักษุสนธิกับอาพาธเป็นจักษวาพาธ
                   ธนูสนธิกับอาคมเป็นธันวาคม
           ๒.พยัญชนะสนธิ
           พยัญชนะสนธิในภาษาไทยมีน้อย คือเมื่อนำคำ ๒ คำมาสนธิกัน ถ้าหากว่าพยัญชนะ ตัวสุดท้าย ของคำหน้ากับพยัญชนะตัวหน้าของคำหลังเหมือนกัน ให้ตัดพยัญชนะที่เหมือนกัน ออกเสียตัวหนึ่ง เช่น 
            เทพสนธิกับพนมเป็นเทพนม
            นิวาสสนธิกับสถานเป็นนิวาสถาน
           ๓.นิคหิตสนธิ
           นิคหิตสนธิในภาษาไทย ใช้วิธีเดียวกับวิธีสนธิในภาษาบาลีและสันสกฤต คือ ให้สังเกตพยัญชนะตัวแรกของคำหลังว่าอยู่ในวรรคใด แล้วแปลงนิคหิตเป็นพยัญชนะตัวสุดท้ายของวรรคนั้น เช่น 
          สํสนธิกับกรานตเป็นสงกรานต์
          (ก เป็นพยัญชนะวรรค กะ พยัญชนะตัวสุดท้ายของวรรคกะ คือ ง)
          สํสนธิกับคมเป็นสังคม
          (ค เป็นพยัญชนะวรรค กะ พยัญชนะตัวสุดท้ายของวรรคกะ คือ ง)
          สํสนธิกับฐานเป็นสัณฐาน
          (ฐ เป็นพยัญชนะวรรค ตะ พยัญชนะตัวสุดท้ายของวรรคกะ คือ ณ)
          สํสนธิกับปทานเป็นสัมปทาน
          (ป เป็นพยัญชนะวรรค ปะ พยัญชนะตัวสุดท้ายของวรรคกะ คือ ม)
     ถ้าพยัญชนะตัวแรกของคำหลังเป็นเศษวรรค ให้คงนิคหิต (_ํ ) ตามรูปเดิม อ่านออกเสียง อัง หรือ อัน เช่น 
          สํสนธิกับวรเป็นสังวร
          สํสนธิกับหรณ์เป็นสังหรณ์
          สํสนธิกับโยคเป็นสังโยค
     ถ้า สํ สนธิกับคำที่ขึ้นต้นด้วยสระ จะเปลี่ยนนิคหิตเป็น ม เสมอ เช่น 
          สํสนธิกับอิทธิเป็นสมิทธิ
          สํสนธิกับอาคมเป็นสมาคม
          สํสนธิกับอาสเป็นสมาส
          สํสนธิกับอุทัยเป็นสมุทัย


           5. คำซ้ำ
           คำซ้ำ คือ การสร้างคำด้วยการนำคำที่มีเสียง และความหมายเหมือนกันมาซ้ำกัน เพื่อเปลี่ยน แปลงความหมายของคำนั้นให้แตกต่างไปหลายลักษณะ
           ๑. ความหมายคงเดิม คือ คำที่ซ้ำกันจะมีความหมายคงเดิม แต่อาจจะให้ความหมายอ่อนลง หรือไม่แน่ใจจะมีความหมายเท่ากับความหมายเดิม เช่น ตอนเย็น ๆ ค่อยมาใหม่นะ รู้สึกจะอยู่แถว ๆ นี้ละ คำว่า เย็น ๆ และ แถว ๆ ดูจะมีความหมาย อ่อนลง
           ๒. ความหมายเด่นขึ้น เฉพาะเจาะจงขึ้นกว่าความหมายเดิม เช่น สอนเท่าไหร่ ๆ 
ก็ไม่จำ พระเอกคนนี้ ล้อหล่อ เป็นต้น
           ๓. ความหมายแยกเป็นส่วน ๆ แยกจำนวน เช่น กรุณาแจกเป็นคน ๆ ไปนะ จ่ายเป็น
งวด ๆ (ทีละงวด) เป็นต้น
           ๔. ความหมายบอกจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น เด็ก ๆ ชอบวิ่ง เธอทำอะไร ๆ ก็ดูดีหมด เป็นต้น
           ๕. ความหมายผิดไปจากเดิม เช่น เรื่องหมู ๆ แบบนี้สบายมาก (เรื่องง่าย) รู้เพียงงู ๆ 
ปลา ๆ เท่านั้น (รู้ไม่จริง) เป็นต้น


           6. คำซ้อน
           คำซ้อน คือ คำประสมชนิดหนึ่งที่เกิดจากการนำเอาคำตั้งแต่สองคำขึ้นไปซึ่งมีเสียงต่างกัน แต่มีความหมายเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน หรือเป็นไปในทำนองเดียวกันมาซ้อนคู่ กัน เช่น เล็กน้อย ใหญ่โต เป็นต้น ปกติคำที่นำมาซ้อนกันนั้น นอกจากจะมีความหมายเหมือนกัน หรือใกล้เคียงกันแล้ว มักจะมีเสียงใกล้เคียงกันด้วย เพื่อให้ออกเสียงง่าย สะดวกปาก คำที่นำ มาซ้อนแล้วทำให้เกิดความหมายนั้นแบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือ
           ๑. ซ้อนคำแล้วมีความหมายคงเดิม คำซ้อนลักษณะนี้จะนำคำที่มีความหมายเหมือนกันมาซ้อนกัน เพื่อขยายความซึ่งกันและกัน เช่น ข้าทาส รูปร่าง ว่างเปล่า โง่เขลา เป็นต้น
           ๒. ซ้อนคำแล้วมีความหมายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
                ๒.๑ ความหมายเชิงอุปมา  คำซ้อนลักษณะนี้จะเป็นคำซ้อนที่คำเดิมมีความหมาย เป็นรูปแบบเมื่อนำมาซ้อนกับความหมายของคำซ้อนนั้นจะเปลี่ยนไปเป็นนามธรรม เช่น
     อ่อนหวาน อ่อนมีความหมายว่าไม่แข็ง เช่น ไม้อ่อน หวานมีความหมายว่ารสหวาน เช่น 
ขนมหวาน
     อ่อนหวาน มีความหมายว่าเรียบร้อย น่ารัก เช่น เธอช่างอ่อนหวานเหลือเกิน หมายถึง กิริยาอาการที่แสดงออกถึงความเรียบร้อยน่ารัก
     คำอื่น ๆ เช่น ค้ำจุน เด็ดขาด ยุ่งยาก เป็นต้น
                ๒.๒ ความหมายกว้างออก คำซ้อนบางคำมีความหมายกว้างออกไม่จำกัดเฉพาะ ความหมายเดิมของคำสองคำที่มาซ้อนกัน เช่น
     เจ็บไข้ หมายถึง อาการเจ็บป่วยของโรคต่าง ๆ และคำว่า พี่น้อง ถ้วยชาม ทุบตี ฆ่าฟัน เป็นต้น
                ๒.๓ ความหมายแคบเข้า คำซ้อนบางคำมีความหมายเด่นอยู่คำใดคำหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นคำหน้าหรือคำหลังก็ได้
                เช่น ความหมายเด่นอยู่คำหน้า ใจดำ หัวหู ปากคอ บ้าบอคอแตก
                       ความหมายเด่นอยู่คำหลัง หยิบยืม เอร็ดอร่อย น้ำพักน้ำแรง ว่านอนสอนง่าย เป็นต้น
      ตัวอย่างคำซ้อน ๒ คำ เช่น บ้านเรือน สวยงาม ข้าวของ เงินทอง มืดค่ำ อดทน เกี่ยวข้อง เย็บเจี๊ยบ ทรัพย์สิน รูปภาพ ควบคุม ป้องกัน ลี้ลับ ซับซ้อน เป็นต้น  ตัวอย่างคำซ้อนมากกว่า ๒ คำ เช่น 
               1.ยากดีมีจน                 4.เจ็บไข้ได้ป่วย         7.ข้าวยากหมากแพง เป็นต้น
               2.เวียนว่ายตายเกิด       5.ถูกอกถูกใจ 
               3.จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน     6.ฉกชิงวิ่งราว 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กองทัพไทย

ความขัดแย้ง กองทัพไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันได้มีความขัดแย้งมาตลอด ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค สงครามสยาม-ฝรั่งเศส  (1893) เกิดขึ้น...