1.หน้าที่ชาวพุทธ
หน้าที่ชาวพุทธประการหนึ่งก็คือ ต้องมีความรู้ความเข้าใจหน้าที่และบทบาทของภิกษุ ทั้งนี้เพื่อจะได้ปฏิบัติตนต่อท่านได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
1.1 หน้าที่และบทบาทของภิกษุสามเณร
เมื่อกุลบุตรผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้เข้ารับการบรรพชาอุปสมบทแล้ว บทบาทและหน้าที่หลักเบื้องต้น ที่จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเหมือนกันในฐานะพระภิกษุสามเณรคือการศึกษาตามหลักไตรสิขา กล่าวคือ
1.ศีล จะต้องศึกษาพระวินัยแต่ละสิกขาบท ข้อวัตรปฏิบัติ ธรรมเนียมมารยาทต่างๆ ให้เข้าใจเพื่อจะได้สำรวมระวังและปฏิบัติตนได้ถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติ ไม่ไห้เกิดโทษในทางวินัย
2. สมาธิ จะต้องศึกษาวิธีการเพิ่มพูนสมาธิ และหมั่นฝึกหัดขัดเกลาอบรมจิตใจให้เกิดความสงบเยือกเย็นมากขึ้นโดยลำดับ มีความหนักแน่นมั่นคง มีความละเอียดอ่อนเพื่อเป็นฐานคิดพิจารณาธรรมขั้นสูง และเพื่อให้สามรถใช้อำนาจแห่งสมาธิขจัดอุปสรรคทางความคิดที่เรียกว่า นิวรณ์ อันได้แก่ ความพอใจรักใคร่ในกามต่างๆ ซึ่งมักจะเกิดในใจคอยขัดขวางมิให้บรรลุความดี
3.ปัญญา จะต้องศึกษาเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพความคิดในการพิจารณาให้เข้าใจถึงความแท้ของสรรพสิ่ง และเพื่อใช้ปัญญาเป็นเครื่องมือในการขจัดสาเหตุของความทุกข์ทั้งปวงโดยลำดับ จนกว่าจะบรรลุถึงภาวะแห่งความบริสุทธิ์ขั้นสูงสุด กล่าวคือ พระนิพพาน
การให้อบรมสั่งสอนด้วยการเผยแผ่พุทธธรรมในรูปแบบต่างๆ สู่สังคมถือเป็นบทบาทและหน้าที่หลักที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพระภิกษุสามเณร ซึ่งถือได้ว่าเป็นการให้คืนแก่สังคมอีกรูปแบบหนึ่ง สังคมต้องพึ่งพาการแนะนำพร่ำสอนจากพระภิกษุสามเณร ทั้งนี้พระภิกษุสามเณรให้ทำหน้าที่ตามบทบาทต่างๆ ดังนี้
1. พระนักเทศน์ พระภิกษุสามเณรที่ได้ศึกษาตามหลักไตรสิกขา และการศึกษาในด้านพระปริยัติธรรม อันได้แก่ การศึกษาหลักพระพุทธธรรมจากพระไตรปิฎกคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาอื่นๆ จนมีความแตกฉานชำนาญในระดับหนึ่งแล้ว ก็จะนำมาแสดงหรือเผยแผ่สู่สังคม